เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 นายบุญแต่ง ใจจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลนาน้อย พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานเทศบาลตำบลนาน้อย ได้เข้าร่วมงานตานสลากถัต ณ วัดนาราบ เทศบาลตำบลนาน้อยได้สนับสนุนการจัดประเพณีอันดีงาม เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีตานก๋วยสลากเป็นอีกหนึ่งประเพณีเนื่องในพุทธศาสนาที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างวัดกับชุมชน และยังสร้างความสามัคคีในหมู่ญาติมิตรสหายอีกด้วย
.
ประเพณีตานก๋วยสลากหรือประเพณีถวายทานสลากภัต จะทำกันตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ราวเดือนกันยายน) จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยงหรือวันเกี๋ยงดับ (ราวเดือนตุลาคม) เป็นประเพณีที่ชาวล้านนาแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษและญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ก๋วยสลาก” ก๋วยสลากจะสานจากไม้ไผ่ซึ่งข้างในถูกห่อหุ้มด้วยใบขมิ้น และใบตอง บรรจุข้าวสารอาหารแห้ง อาหารปรุงสุก เครื่องอุปโภคบริโภค ด้านบนก๋วยสลากจะมีใบหมากพลู ไม้ดอก ไม้ประดับมัดรวมกัน มีเทียนบุหรี่มัดติดไม้เสียบเงินที่เป็นปัจจัย ส่วนในก๋วยสลากมีกระดาษเขียนไว้ว่า“สลากก๋วยนี้จัดตานอุทิศไปหาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว"
.
สำหรับก๋วยสลากที่ทำกันมี 3 แบบ ได้แก่
.
1."ก๋วยน้อย" ใช้สำหรับอุทิศให้กับบรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นญาติพี่น้อง เป็นมิตรสหาย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เคยอยู่ด้วยกันมาก็ได้ ทั้งช้าง ม้า วัว ควาย แมว และสุนัข หรือถ้าไม่ได้ถวายทานให้กับใครเป็นพิเศษ ก็สามารถถวายเอาไว้ภายภาคหน้าก็ได้
.
2."ก๋วยใหญ่" จะเป็นก๋วยที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ สามารถจุของได้มากกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว
.
3."สลากโชค" จะแตกต่างจากก๋วยสองแบบแรกอย่างชัดเจน สลากโชคจะทำเลียนแบบต้นไม้สูงใหญ่ แล้วนำสิ่งของต่างๆ ไปแขวนไว้ เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วยชาม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้ง และเงินทอง |